ก้าวไกล Next

ย้อนกลับ

ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของเอเชีย

Sapien Sapien  •  2022-08-07  •    2 ความคิดเห็น  • 

ดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) นี่คือฉายาของประเทศไทยจากการที่เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สันดาปมานานหลายทศวรรษ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไทยหลายแสนคนรวมไปถึงก่อให้เกิดบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เจ้าต่าง ๆ ภายในประเทศ และถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

หลังจากที่เวลาได้ผ่านล่วงเลยมานาน หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดการเกิดภาวะโลกร้อนที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศ โดยได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้า "Carbon neutrality" และ "net zero emissions" ซึ่งหนึ่งในย่างก้าวที่สำคัญปฏิเสธไม่ได้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าว

แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ช่วงหลังมานี้สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.3% แต่ประเทศจีนกลับเพิ่มจาก 0.7% เป็น 1.5% และบริษัทรถยนต์รายใหญ่บางค่ายเริ่มลงทุนตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า ตลาดที่ใหญ่กว่า รวมไปถึงเป็นประเทศอันดับ 1 ในการส่งออกแร่ "นิกเกิล" ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตแบตเตอรี่ โดยสถานการณ์นี้ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตรถยนต์ EV ครบวงจรตั้งแต่เหมือง, โรงถลุงแร่, โรงงานผลิตรถยนต์ EV จนไปถึงโรงงานรีไซเคิล หรือคำว่าดีทรอยด์แห่งเอเชียกำลังจะเป็นอดีตของประเทศไทย ?

จะทำอย่างไรไม่ให้เราตกขบวนรถไฟคันนี้ที่กำลังเคลื่อนผ่านประเทศไทยเราไปอย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป มีโอกาสที่นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยัง 2 ประเทศข้างต้นกันหมด เหตุผลคือ เรามี FTA กับจีน ส่งผลให้เราสามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าได้โดยไม่มีภาษี และการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีแนวโน้มถูกกว่าการผลิตในประเทศ เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีขนาดใหญ่กว่าไทย ซึ่งสถานการณ์ก็คงจะเริ่มมีหน้าตาคล้ายกับออสเตรเลียที่เริ่มมี FTA กับไทย และกลายเป็นว่าสุดท้ายก็ได้นำเข้ารถยนต์จากไทยแทน

จึงเป็นที่มาของคำถามตัวโต ๆ ว่าไทยเรามีดีอะไรทำไมนักลงทุนจำเป็นต้องลงทุนกับประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และจะทำอย่างไรให้เรามีดีมากพอ ?

1. เราควรมีจุดแข็งเป็นของตนเอง ก็คงเหมือนกับ TSMC ของไต้หวันมีเซมิคอนดักเตอร์, อินโดนีเซีย มีแร่ "นิกเกิล" สำหรับผลิตแบตเตอรี่ และ จีน มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ดังนั้นการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ทางเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเร่งหาจุดแข็งใหม่ ๆ ให้กับประเทศเราเอง และอาจรวมไปถึงใช้ข้อแลกเปลี่ยน หรือ สิทธิพิเศษทางภาษีบางอย่างเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน

2. การขึ้นค่าแรงเป็นสิ่งที่ควรพึงระวังและควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน มิเช่นนั้นไทยเราจะยิ่งเสียเปรียบในด้านค่าแรงกับประเทศคู่แข่งอื่นที่เป็นฐานการผลิต โดยในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเราสามารถมองในมุมของรัฐสวัสดิการที่ดี และการลดค่าครองชีพในชีวิตประจำวันได้

3. เร่งผลักดันความต้องการ (Demand) การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และสร้างระบบสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าสำหรับ EV ให้ทั่วถึงโดยเร็ว เช่น สถานีชาร์จไฟ เป็นต้น เนื่องจากการผลักดัน Demand คงจะเป็นไปได้ยากหากผู้ใช้งานยังคงมีความกังวลเรื่องสถานีชาร์จ หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยนัก

หากเราไม่เร่งเดินหมากในเกมนี้ ภายใน 3-5 ปี ประเทศคู่แข่งจะเริ่มมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้น เราอาจจะต้องสูญเสียฐานการผลิตให้กับประเทศคู่แข่ง และคงจะเกิดปัญหาใหญ่ที่ตามมากับห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศอย่างแน่นอน

ความคิดเห็น (2)

คุณต้อง เข้าสู่ระบบ หรือ สร้างบัญชี เพื่อแสดงความคิดเห็น
  • TanaB

    เราเสียโอกาสไปมากมายมาหลายปี อินโดนำเราไปไกลมากแล้ว ทางเดียวที่จะกู่กลับคือก้าวไกล ได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น พรรคอื่นยังมองไม่เห็นว่าจะกล้าแตะโครงสร้างนี้เลย อยากเห็นแนวทางพรรคเช่นกัน

    • Sapien
      Sapien  •  ผู้เขียน  •  2022-08-08 17:31:50

      ใช่ครับ อินโดน่ากลัวมากตอนนี้ ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนออสเตรเลียในอดีตครับ

      ไม่มีความคิดเห็น
      0 คะแนน  | 
      0
      0