ก้าวไกล Next

ย้อนกลับ

อยากให้มีนโยบายที่ส่งเสริมเรื่องสุขภาพจิตของคนทุกกลุ่มวัยตั้งแต่เกิดจนแก่

ปัจจุบันนโยบายด้านสุขภาพจิตดูผิดที่ผิดทางไปมาก กรมสุขภาพจิตมีมานานก็เหมือนยังจับทางงานตัวเองไม่ถูก จิตแพทย์ นักจิตวิทยาในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักจิตวิทยาโรงเรียน มีในระบบน้อยและส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบรรจุ ไม่มีความมั่นคงและไม่มีวี่แววจะบรรจุหรือรับคนเพิ่ม เมื่อมีคนทำงานน้อย ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างจำกัด การให้บริการด้านอื่น เช่น ไลน์บอทให้คำปรึกษา สายด่วนสุขภาพจิตก็ถูกจำกัดไปด้วยคนทำงานไม่เพียงพอ ประกอบกับโครงการต่าง ๆ ที่ "ดูเหมือน" จะมีประโยชน์กับสุขภาพจิตของประชาชนก็เข้าถึงประชาชนได้ไม่ทั่วถึง เป็นการใช้งบประมาณแบบใช้ไปให้งบปีงบเป็นปี ๆ ไป หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เหมือนต่างคนต่างคิดแบบไม่คุยกัน ทำให้โครงการที่ออกมาชวนให้ประชาชนสับสน เพราะ user มีกลุ่มเดียวคือประชาชนแต่โครงการมีหลายอย่างจนไม่รู้จะต้องทำตามอันไหน  ทั้งที่สุขภาพจิตคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่งานต่าง ๆ ของภาครัฐกลับไม่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี หนำซ้ำยังซ้ำเติมให้สุขภาพจิตประชาชนแย่ลงไปอีก การออกนโยบายต่างควรคำนึงถึงสุขภาพจิตร่วมด้วย  ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การปกครอง แรงงาน แม่และเด็ก ผู้สูงอายุ สังคม เพราะสุขภาพจิตถูกกระทบได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน

ดังนั้นสิ่งที่อยากเสนอ คือ

- การเพิ่มจำนวนบุคลากรจิตแพทย์และนักจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ ทั้งนักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาพัฒนาการและนักจิตวิทยาโรงเรียน เข้ามาในระบบของภาครัฐ เพื่อเอื้อให้การบริการด้านสุขภาพจิต ครอบคลุม เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

- ส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนโดยพัฒนาหลักสูตรแนะแนว ลดภาระงานของครู ให้ครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว และเพิ่มบุคลากรตำแหน่งอื่น ๆ ตามงานในโรงเรียน เช่น บุคลากรด้านพัสดุ การเงิน รวมถึงเพิ่มการมีนักจิตวิทยาโรงเรียน/ นักจิตวิทยาพัฒนาการในโรงเรียนร่วมด้วย

- การกำหนดเวลาการทำงานและปริมาณงานของบุคลากรไม่ให้ overload และ over time มี KPI ของแต่ละตำแหน่งงานชัดเจน มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและป้องกันภาวะ burnout และการลาออกของบุคลากร

- มี day care สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ต้องไปทำงานและไม่สามารถเลี้ยงลูกในช่วงเวลางานได้ โดย day care ควรมีนักจิตวิทยาพัฒนาการประจำอยู่ด้วย เพื่อประเมินพัฒนาการเด็กและออกแบบโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กในช่วงปฐมวัย

-  การเพิ่มยาจิตเวชเข้าบัญชียาหลักเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่ดีมากขึ้น

- การทำ nursing home หรือ day care สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล หรือผู้สูงอายุที่เลือกจะอยู่ด้วยตัวเองไม่พึ่งพาลูกหลาน เพราะผู้สูงอายุคือวัยที่ผ่านการทำงานเสียภาษีมาพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนานจึงควรดูประชาชนในกลุ่มวัยนี้ให้มีช่วงสุดท้ายของชีวิตในแบบที่ไม่ลำบากจนเกินไป ทั้งนี้สิ่งที่อาจจะเกิดในผู้สูงอายุคือภาวะหลงลืม หรือภาวะถดถอยบางอย่าง จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักกายภาพ นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาเพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ

- การจัดบริการสุขภาพจิตสำหรับคนทำงาน เพื่อให้ประชาชนวัยแรงงานเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น

- พัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ social - emotion learning ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและแนวทางการดูแลสุขภาพจิตตนเอง

- การทำ parent school ที่เข้าถึงทุกคน สำหรับวัยแรงงานที่กำลังสร้างครอบครัว เพื่อให้พวกเขามีแนวทางในการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมตามพัฒนาการ

- การสร้างพื้นที่ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี เช่น ชุมชนที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ให้เลือกทำหรือพูดคุย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ชวนหดหู่ การเดินทางที่ง่าย ครอบคลุมและประหยัด  

- การปรับค่าแรงให้กับแรงงานตามภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพหรือมีนโยบาย/ เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าเช่าบ้าน

- การส่งเสริมเศรษฐกิจ/ สินค้าท้องถิ่น/ สินค้าชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ สามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้ตนเองได้ และถ้ามีหนี้ก็สามารถหาช่องหาสร้างรายได้เพื่อลดหนี้ให้ตนเองได้

- การรณรงค์เกี่ยวกับสุขภาพจิตตามวาระโอกาส เช่น วันฆ่าตัวตายโลก วันไบโพลาร์หรือสัปดาห์สุขภาพจิต 

หวังว่าพรรคจะนำไปพิจารณา

ความคิดเห็น (0)

คุณต้อง เข้าสู่ระบบ หรือ สร้างบัญชี เพื่อแสดงความคิดเห็น