ก้าวไกล Next

ย้อนกลับ

จำนนต่อเหตุผลสาธารณะ

ป ก ป ก  •  2022-08-03  •    8 ความคิดเห็น  • 

บ้งแล้วรับแก้ไข อย่าอ้างเอกสิทธิ์ ส.ส. ส่งเดช

เป็นนักการเมืองระดับชาติคุณเป็นตัวแทนทางความคิดที่จะใช้ในการอยู่ร่วมกันของคนต่างที่ในสังคม คุณต้องให้เหตุผลสาธารณะ เหตุผลที่จะมีความหมายกับคนอื่นได้อย่างเดียวกับที่มันมีความหมายกับคุณ เมื่อคุณอาสามาเป็นตัวแทนทางความคิด คุณต้องสม่ำเสมอ คุณเป็นตัวแทนความคิดไม่ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายอุปถัมภ์แบบการเมืองเก่า เมื่อให้เหตุผลสาธารณะคุณต้องแย้งด้วยเหตุผลสาธารณะถ้าแย้งไม่ได้คุณต้องมีภาวะผู้นำพอจะแสดงมูลค่าของการจำนนต่อเหตุผลสาธารณะ มูลค่าของการจำนน (ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องแสดงให้เห็นว่าความได้อย่างเสียอย่างนั้นมันสมเหตุสมผลจำต้องเลือกสิ่งที่ดีกว่า) อย่างกรณี ส.ส. อ๋องแบบนี้ไม่ถูกต้อง การสนับสนุนเข้าข้างกันของ ส.ส. เท้ง ก็ไม่ถูกต้อง เพราะ ส.ส. อ๋องเห็นด้วยด้วยตัวเองกับเหตุผลสาธารณะของสมรสเท่าเทียม (ที่สัญญากันไว้ในรัฐธรรมนูญ ใครๆในพรรคก็ใช้ข้อถกเถียงนี้) และไม่มีเหตุผลสาธารณะอื่นมาแย้ง การใช้อำนาจที่ประชาชนมอบหมายต้องสอดคล้องกับเหตุผลสาธารณะนี้ ไม่งั้นประชาชนที่เลือกคุณก็ไม่มีอำนาจเหนือคุณ เพราะคุณจะพูดอะไรสวยหรูมีหลักการแค่ไหนก็ได้แต่การใช้อำนาจที่มีผลกับการปกครองตัวเองของประชาชนกลับกลายเป็นอีกเรื่อง

การเมืองใหม่จะต้องไม่มีความอดทนอดกลั้นให้กับนิสัย boomer แบบนี้

ยังมีอีกหลายกรณี เช่น ส.ส. วรรณวรี อ้าง "เหตุผลส่วนตัว" คุณวิโรจน์บ้งเรื่อง derivative work นักการเมืองเป็นตัวแทนทางความคิด คุณต้องมีความคิดที่คิดจะเป็นตัวแทน คุณต้องทำการบ้านและมีเหตุผลสาธารณะให้กับจุดยืนต่างๆ

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ จุดยืน 112 ถึงต้องมีเพราะคุณเป็นตัวแทนความคิด จะคิดต่างอย่างไร ให้เอาเหตุผลสาธารณะมาพูดกำกับไว้ (เหตุผลสาธารณะ ไม่ใช่เหตุผลส่วนตัว เหตุผลส่วนตัวของคุณไม่มีค่ากับคนอื่นๆในสังคม) ทุกความคิดและการกระทำของนักการเมืองต้องมีเหตุผลสาธารณะกำกับ นี่คือการสร้างมูลค่าของ "เสรีนิยมประชาธิปไตย" สิ่งที่ทำให้คุณแตกต่างจากการเมืองเก่า คนไทยต้องเล่าให้ตัวเองเล่าให้กันและกันฟังให้ได้ว่าการเมืองสร้างมูลค่าอย่างไร อย่าคิดพึ่งศีลธรรม การเมืองไม่ใช่การกุศลของคนดีมาโปรดสัตว์

 

ความคิดเห็น (8)

คุณต้อง เข้าสู่ระบบ หรือ สร้างบัญชี เพื่อแสดงความคิดเห็น
  • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

    ขอบคุณมากครับสำหรับความเห็นดี ๆ

    ผมอาจจะผิด ในเรื่องการสื่อสาร ที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิด

    ไหน ๆ พื้นที่นี้ ก็เป็นพื้นที่เปิด เพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจ เพื่อร่วมกันสร้างพรรคขึ้นมาใหม่แล้ว ผมขออนุญาตชี้แจงตามความเหมาะสม (ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่ได้รับโอกาสจากพรรค) ดังต่อไปนี้ครับ

    เรื่องว่าผมทำถูก/ไม่ถูก ผมไม่ขอตัดสินตัวเอง แต่ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน รับทราบข้อเท็จจริง ที่มาที่ไป และตัดสินผมจากมุมมองในฐานะปัจเจกชน ตามค่านิยมแต่ละคน จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผมพร้อมน้อมรับคำตัดสินนั้นครับ

    • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

      1) ส.ส.อ๋อง ไม่ได้โหวต เพราะคิดว่าหลักศาสนา ใหญ่กว่าหลักกฎหมาย

      2) ส.ส.อ๋อง มีเหตุผลอื่น ๆ ที่เขาประเมินด้วย "ความรู้สึก" แล้วทำให้เขากดโหวตให้ไม่ได้ อาทิ การรักษาสัมพันธ์กับกลุ่มคนอีกกลุ่มไว้ เพื่อใช้เป็นประตูในการทำงานทางความคิดกับคนกลุ่มนั้นในภายหลัง แทนการปิดประตูใส่พวกเขาเสียตั้งแต่วันนี้ แล้วทอดทิ้งพวกเขาไว้เป็น 'คนส่วนน้อย' ที่อยู่ข้างหลัง ที่มีค่านิยมตามไม่ทันค่านิยมของ 'คนส่วนใหญ่'

      3) การโหวตในระบอบประชาธิปไตย คงจะดีไม่น้อย ถ้าทุกคนต่างโหวตตามอารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ หรือตามเหตุผลของตน แล้วปล่อยให้กระบวนการทางประชาธิปไตย ที่อาศัยเสียงข้างมาก เป็นเครื่องมือในการหาทางออก หรือสร้างฉันทามติให้กับสังคม

      4) แต่ในโลกความเป็นจริง พวกเราหลายคน ไม่ได้ลงมติโหวตด้วยเหตุผลในข้อ (3) ด้วยความบริสุทธิ์อย่างเดียวไม่ พวกเราหลายคน (ในฐานะมนุษย์ปุถุชน) มักจะคิดนำล่วงหน้าไปแล้ว ว่าจะโหวตอย่างไรให้ชนะ โหวตอย่างไรให้ได้สิ่งที่ 'เรา' ต้องการ หรือที่เราพูดกันติดปากว่า 'Strategic Vote'

      • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

        (ผมขอชี้แจง เฉพาะส่วนการกระทำของผม ไม่เกี่ยวกับการกระทำของคนอื่น ๆ นะครับ)

        5) ผมออกมาทำตัวเกินหน้าที่ กางปีกแบกรับ ส.ส.อ๋อง (ในฐานะเพื่อนร่วมพรรค) เพราะผมรู้ และเข้าใจ ว่าสิ่งที่ ส.ส.อ๋อง ต้องเผชิญ คืออะไร ส.ส.อ๋อง โหวตด้วยเหตุผล (1), (2) และยืนยันว่าเขาอยากเป็นผู้แทนฯ แบบที่เขาอยากเป็น โดยการเลือกโหวตแบบ (3)

        6) การโหวตแต่ละครั้ง มีเหตุผลอะไรเบื้องหลังอีกมากมาย มากกว่าหลักการและเหตุผลแห่งตัวบทกฎหมายนั้น อาทิ การรับเงินมาโหวต การโหวตตามอุดมการณ์ความเชื่อ การโหวตตามมติพรรค หรือการโหวตตามเหตุผลอื่น ๆ อย่างกรณี (2) ของ ส.ส.อ๋อง แล้วอะไร คือเส้นแบ่งที่ถูก ของการโหวตอะไรสักอย่างนึง?

        • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

          7) สำหรับผม มีหลักการเพียงไม่กี่ข้อ (ซึ่งผมใช้กับการกระทำทุกอย่างในฐานะนักการเมือง ซึ่งการโหวตเป็นเพียงส่วนหนึ่งในนั้น ในฐานะความเป็นนักการเมือง ที่ต้องถูกหลักการเหล่านี้ครอบเอาไว้ด้วย) ว่าอะไร ถูก/ไม่ถูก?

          7.1) ยึดถือประโยชน์ผู้อื่น มากกว่าประโยชน์ส่วนตน

          7.2) ไม่ได้เป็นการตระบัดสัตย์ สัญญากับประชาชนไว้อย่าง แล้วไปทำอีกอย่าง

          7.3) มีกระดูกสันหลัง กล้าพูดในสิ่งที่เชื่อ กล้าแย้งในสิ่งที่ขัดกับหลักการของตน - การเงียบในความอยุติธรรม คือความไม่ยุติธรรม

          • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

            8) สำหรับผม การโหวตของ ส.ส.อ๋อง ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขัดกับหลักการในข้อ (7) เลย ในทางตรงข้าม เขาได้ยืนหยัดในหลักการข้อ (7) ด้วยซ้ำ

            • ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

              สุดท้าย ผมเข้าใจว่ามีหลายคน ได้ตัดสิน ส.ส.อ๋อง (รวมถึงผม) โดยการให้เหตุผลว่า

              1 เสียงของคุณ อาจมีผลทำให้ร่างนี้ผ่าน/ไม่ผ่าน คุณผิด เพราะถ้าร่างนี้ตกขึ้นมาเพียง 1 เสียง นั่นคือคุณคือผู้ทรยศต่อคนอีกหลายล้านคน ที่ผลักดันร่างนี้มา

              ผม 'เข้าใจ' ครับ และคงยอมเป็นคนผิด 'ด้วยความรู้สึก' ของสังคม ถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาจริง ๆ

              แต่ผมอยากให้มองอีกแง่หนึ่งว่า

              ที่กฎหมายนี้ผ่านขึ้นมา ไม่ใช่เพราะว่ามี ส.ส. จำนวนไม่น้อยจากซีกฝั่งรัฐบาล ที่ยอมแหกมติพรรค แหกมติครม. อดได้รับค่าขนมไปบ้าง แล้วหันมาโหวตแบบข้อ (3) หันมา "โหวตด้วยมโนธรรมสำนึก"

              การโหวตแบบข้อ (3) (แถมข้อ (7) ด้วยยิ่งดี) นี้หรือเปล่าครับ? คือ กระบวนการโหวตในประชาธิปไตยในอุดมคติที่เราถวิลหา

              ผมจึงได้ให้เหตุผลว่า ส.ส.อ๋อง ไม่ได้ทำผิดอะไร ดังที่ปรากฏใน tweet นี้

              https://twitter.com/teng_mfp/status/1537084230798561280?t=qhvDXdCtfikDB7Y68gBjPg&s=19

              • ป ก
                ป ก  •  ผู้เขียน  •  2022-08-03 15:21:17

                เหมือนคุณไม่ได้อ่านข้อโต้แย้งของเราให้ดี ก่อนลงมติส.ส.อ๋องได้อภิปรายและแสดงเหตุผลสาธารณะไว้ว่าเหตุใดถึงต้องแก้ให้สมรสเท่าเทียม หากเราปล่อยให้นักการเมืองยอมรับเหตุผลสาธารณะแต่เลือกที่จะใช้อำนาจไปตามเหตุผลหรือกลยุทธ์ส่วนตัว (รักษาฐานเสียงสร้างมูลค่าให้ตัวเอง) โดยไม่มีเหตุผลสาธารณะที่สะท้อนความคิดตัวเองอาสาจะเป็นตัวแทนมาหักล้าง นี่คือการเมืองเก่าไง การเมืองของการเลือกพวกพ้องและลอยนวลไม่ต้องตอบเหตุผลต่อคนหมู่มากไง ถามว่านี่คือทิศทางที่ก้าวไกลกล้ายอมรับว่าจะปล่อยให้เป็นไหม? การประนีประนอมมันมี แต่คุณต้องประกาศสูตรความคิดในการประนีประนอมนั้นในฐานะมติพรรค แสดงให้คนเห็นว่า make concession แลก trade-off แล้วเกิดประโยชน์จริง คุ้มค่าจริง จำต้องทำแบบนั้นจริง เชื่ออย่างนั้นด้วยเหตุผลสาธารณะจริง การกระทำที่ใช้อำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้ไม่มีเหตุผลสาธารณะกำกับไม่ได้

                เราว่าความคิดแบบข้อ 3 ของคุณไม่ถูกต้อง ความเชื่อของนักการเมืองมีค่าก็ต่อเมื่อมันมีเหตุผลสาธารณะรองรับ เพราะคุณจะเป็นตัวแทนทางความคิดของคนในวงกว้าง คนเค้าไม่ได้เลือกตัวตนของคุณ เค้าเลือกตัวแทนทางความคิด เค้าจะปกครองตัวเอง (ประชาธิปไตย)

                • ป ก
                  ป ก  •  ผู้เขียน  •  2022-08-03 16:17:24

                  ขอเสริมอีกนิดว่าความคิดแบบข้อ 3 อันตราย เพราะคุณอธิบายการสร้างมูลค่าของเสรีนิยมไม่ได้ (ได้แต่ปชตเสียงข้างมาก เปลี่ยนผ่านอำนาจหาข้อยุติด้วยกระบวนการที่สันติ) นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนสนับสนุนรัฐประหาร เพราะคนไม่เห็นว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยจะสร้างมูลค่าให้กับชีวิตได้อย่างไร (ถ้ายังไงซะเขาเป็นเสียงข้างน้อย) การแข่งขันทางความคิดและจำนนด้วยเหตุผลเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดมูลค่า ทุกคนทุกครั้งที่เปลี่ยนใจ จากเฉยๆเป็นเห็นด้วย จากไม่เห็นด้วยเป็นเห็นด้วย เขาตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจุดยืนใหม่ ความเข้าใจใหม่นั้นดีกว่าเดิม เอาสิ่งดีๆของจุดยืนเดิมไปแลกกับสิ่งดีๆของจุดยืนใหม่แล้วคุ้ม พูดในบริบท ส.ส. อ๋องคือ แม้จะรู้สึกอย่างไร มีอัตลักษณ์ชาวคริสต์อย่างไร ก็เล็งเห็นได้ว่าการยืนยันข้อตกลงคนเท่ากันในรธนนั้นคุ้มค่ากับการประนีประนอมส่วนตัวในใจตัวเองทั้งของตัวเองและปัจเจกฐานเสียงชาวคริสต์คนอื่นๆที่จะเผชิญกับทางเลือกอย่างเดียวกัน (เลือกว่าจะทำลายสิทธิ์สนับสนุนการทำลายข้อตกลงกับคนที่เชื่อไม่เหมือนเราหรือจะมีความอดทนอดกลั้นแล้วยืนยันสิ่งที่สัญญากันไว้ในรธน)

                  ไม่มีความคิดเห็น
                  0 คะแนน  | 
                  0
                  0